ภูผา4x4 ช็อป

บทความ

การใช้เอนจิ้นเบรค ขับรถขึ้น-ลงเขา

21-12-2556 07:27:08น.
ข้อมูลจาก Timerider

ตามที่เค้าพูดกันว่า “รถเกียร์ออโต้ ปรับที่ D ก็ไปได้ยันเหนือจรดใต้” ขอเถียงว่าไม่เป็นความจริง ไม่ว่ารถเกียร์ธรรมดา หรือเกียร์ออโต้ ในกรณีขับบนที่ลาดชัน เพื่อความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีทักษะของการใช้ เอนจิ้นเบรค(Engin Brake)

บทความนี้เขียนถึงรถเกียร์ออโต้ทั่วไป ที่ไม่ได้มีระบบความปลอดภัยเสริมพิเศษ(เหมือนน้องแคปขับสี่ ที่มีระบบความปลอดภัยมากมาย)

เอนจิ้นเบรค คือ การใช้เกียร์ต่ำ เพื่อหน่วงความเร็วของรถให้ช้าลง โดยที่ไม่ต้องใช้เบรค แต่ใช้ความเร็วรอบของเครื่องยนต์ผ่านระบบเกียร์ที่ถูกปรับให้ต่ำลง และส่งผ่านไปยังล้อ ทำให้ล้อหมุนช้าลง หากเอนจิ้นเบรคทำงาน รอบของเครื่องจะขึ้นสูง ได้ยินเสียงชัดเจน เรียกว่าสนั่นป่าสองข้างทาง

ในสภาพเครื่องยนต์ได้รับการบำรุงรักษาปกติ การใช้เอนจิ้นเบรค ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์และเกียร์มากมายอย่างที่คิด มันเหมือนเป็นช่วงที่เค้นสมรรถนะของมันให้ออกมาเต็มที่นั่นเอง

ตอนที่รถพุ่งหลาวลงจากเขา จะมีแรงเฉื่อยที่เรียกว่า โมเมตั้ม ทำให้รถพุ่งทะยานไปเร็วขึ้นๆๆ พอถึงโค้งเราต้องเหยียบเบรค แต่เมื่อเจอหลายโค้ง ก็เหยียบเบรคหลายครั้ง จะทำให้ผ้าเบรคซึ่งเสียดสีกับจานเบรคบ่อยครั้ง (ที่เรียกว่า เลียจานเบรค) จนจานเบรกระบายความร้อนไม่ทัน ทำให้ร้อน และไหม้ ถ้าเปิดหน้าต่างจะได้กลิ่นเหม็นไหม้ลอยเข้ามาแตะจมูก

เมื่อระบบเบรคร้อน (ซึ่งได้แก่ ปั้มเบรค น้ำมันเบรค ลูกสูบเบรค จานเบรค ผ้าเบรคฯ) จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการหยุดรถด้วยเบรค จะลดลงอย่างมาก (ขึ้นกับว่าเลียจานเบรคมากน้อยแค่ไหน) ทำให้เวลาที่เราต้องการใช้เบรคจริงๆ เช่น มีเหี้ย เอ้ย ตัวเงินตัวทองวิ่งตัดหน้า หรือมีการหักหลบ หยุดสิ่งกีดขวาง ขอบเหวเบื้องหน้า เบรคจะไม่สามารถหยุดแบบสั่งได้เหมือนเดิม (มันจะไหลไปเรื่อยๆ ทีนี้ก็ตัวใครตัวมัน)

ดังนั้นความหมายอีกประการของการใช้เอนจิ้นเบรค คือ การสงวนระบบเบรคให้มันคงประสิทธิภาพเต็มร้อยอยู่เสมอ(ไม่ว่าจะขึ้นเขาหรือลง ห้วย) เพื่อไว้ใช้มันในโอกาสที่เราต้องการใช้เบรคจริงๆ (ย้ำ..เวลาที่เราต้องการใช้จริงๆ) เหมือนสะสมเงินก้อนหนึ่งเอาใช้ใช้ยามฉุกเฉินนั่นเอง

การใช้เอนจิ้นเบรค จะนิยมใช้ตอนลงจากที่สูงชัน คุณคงเคยเห็นป้ายจราจรสีเหลืองติดอยู่ตามริมถนนบนภูเขา ที่มีรูปรถผงกหัวขึ้นเขา และเขียนว่า “โปรดใช้เกียร์ต่ำ” น่านแหละใช่เลยเข้าพื้นที่Killing Zone แว้ว เค้ากำลังบอกให้คุณใช้เกียร์ต่ำ(สำหรับรถเกียร์ธรรมดา )

หากเป็นรถเกียร์ออโต้ คุณต้องปรับมาต่ำแหน่งเกียร์ที่ต่ำกว่า D เช่น 3 , 2 , หรือ L .ให้เหมาะกับความเร็ว และความลาดชัน แต่ อย่าคิดว่า รถเกียร์ออโต้ เลื่อนมาตำแหน่งD แล้วไปได้ทุกแห่งในโลก คุณเข้าไปผิดเสียแล้ว การขับรถเกียร์ออโต้ขึ้นลงเขา คุณต้องรู้เรื่องการใช้เอนจิ้นเบรค(จำเป็นอย่างที่สุด) ไม่งั้นคุณเสร็จแน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ตอนขึ้นเขา ถ้าเป็นรถใช้เกียร์ออโต้ ก็ให้อยู่ตำแหน่ง D อย่างเดียวก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ระบบเกียร์จะปรับเปลี่ยนอัตโนมัติตามชื่อเสียงเรียงนามของมัน (บทความนี้ผมเน้นรถเกียร์ออโต้ เพราะคนใช้รถเกียร์ธรรมดา โดยมากจะรู้โดยสัญชาติญาณว่าขึ้นเขาลงเขาควรทำยังไง)

ส่วนตอนลงจากเขาจะใช้เอนจิ้นเบรค ประสานกับเบรกจริง(ในบางโอกาส) คือ ใช้ร่วมกันทั้ง 2 ระบบ ( แต่ใช้เอนจิ้นเบรคมากกว่า) เมื่อใช้ 2 ระบบช่วยเบรก ทำให้ประสิทธิภาพการเบรคและความปลอดภัยจะเพิ่มขึ้นอย่างมากแบบเหลือเชื่อ

การใช้เอนจิ้นเบรคต้องทำอย่างไร ?

ขณะรถพุ่งลงจากเขา คือ เปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำไปเรื่อยๆ เช่น จากเกียร์ D เป็น3 ถ้ารู้สึกว่ารถยังเร็วอยู่ก็เปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำยิ่งกว่าเดิมไปเรื่อยๆ คือ เปลี่ยนจาก 3 มา 2 บางเนินที่ลาดลงมากๆ แถมหักศอก อาจลดลงมาถึงตำแหน่ง L (หรือเกียร์ 1 นั่นเอง แต่โอกาสน้อยมาก) พอหมดเนินสูง เป็นทางลาดธรรมดา หรือ ค่อยไต่เขาอีก ก็ค่อยปรับเกียร์ให้มาอยู่ตำแหน่ง D เหมือนเดิม

ผลข้างเคียงของการใช้เกียร์ต่ำ จะทำให้เครื่องเสียงดัง เพราะรอบสูง กินน้ำมัน ทั้งเครื่องและเกียร์จะร้อน แต่ที่กล่าวมานี้เทียบไม่ได้กับชีวิตอันมีค่าของคุณและผู้โดยสารที่คุณรัก และห่วงใย
รอบสูงๆ อาจทำให้รถของคุณเป็นไข้ตัวร้อนนิดหน่อย แต่คุณอายุยืนยาวไปอีกนาน เลือกเอาว่าให้จะปล่อยให้อันไหนสึกหรอดีกว่า

ไม่มีอะไหล่รถชิ้นไหนแพงกว่าชิ้นส่วนร่างกายของคุณ.... และต่อให้เป็นรถรุ่น Limited Edition ก็ยังหาอะไหล่ได้ครบทุกชิ้น ถึงแม้โลกนี้จะมีประชากร 7,000 ล้านคน แต่เวลาคุณต้องการเปลี่ยนอวัยวะสักชิ้นก็อาจไม่มีให้คุณ ต่อให้มีก็ใช้ได้ไม่ดีเท่าของที่ติดตัวมา โชคร้ายอาจเข้าคิวรอนานจนสิ้นอายุขัย เหมือนจองกฐินที่วัดปากน้ำ!

ขณะรถไหลลงเนินสูง หากเปลี่ยนมาเกียร์ต่ำลงมาแล้ว 1 จังหวะ แล้วเครื่องยังไม่ตอบสนอง แสดงอาการหน่วงลดความเร็วให้เห็น (มันยังเฉย)แสดงว่า รถของคุณกำลังดื่มด่ำกับบรรยากาศสองข้างทาง (จริงๆ แล้วเป็นข้อจำกัดทางเทคนิคของเกียร์แต่ละรุ่นหรืออาจเป็นเพราะสภาพเกียร์ที่ เก่า) ให้ย้ำคันเร่งเล็กน้อย (แล้วรีบถอนเท้าออกทันที)เพื่อปลุกมัน

ถ้ามันยังเฉย ก็ให้คุณค่อยๆ ลดเกียร์ต่ำ ทีละสเต็ป เช่น จาก D มา 3 ถ้ามันยังเฉย ก็ปรับให้เป็นเกียร์ต่ำยิ่งขึ้น ทุกสเต็ปถ้ามันยังเฉยก็ใช้เทคนิคย้ำแล้วถอดออกเพื่อปลุกมัน ถ้าไม่ได้ผล ก็ลดเกียร์ต่ำลงเรื่อยๆ แต่อย่าข้ามจาก D แล้วไป 1หรือ L ทันที ให้ไปทีละสเต็ป ระหว่างนั้นรอบเครื่องจะสูง เสียงดังสนั่นป่าสองข้างทาง

ทำไมบริษัทรถยนต์ทำเกียร์ออโต้ ต้องมีตำแหน่งเกียร์ต่ำด้วย แทนที่จะมีตัว D(ไปหน้า) กับ R(ถอยหลัง) ก็เพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างไปจากการใช้งานปกติ โดยเฉพาะ "การไต่ ลงเขาขึ้นเขา" เป็นประการสำคัญ และใช้ในกรณีเฉพาะกิจอื่นๆ เช่น ลากจูง ติดหล่ม วิ่งบนน้ำแข็งหรือถนนลื่น เขาสร้างมาแล้ว เราผู้ใช้เสียเงินหลายแสนหลายล้าน ก็ต้องใช้ให้คุ้ม ให้ชีวิตเราและผู้โดยสารปลอดภัยที่สุด

รถบรรทุก รถทัวร์ ที่วิ่งเป็นอาชีพ หรือ รถชาวบ้านที่อยู่ตามริมเขา จัดได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้เอนจิ้นเบรค เราสังเกตุได้เวลาเราขับรถตามรถเหล่านี้ตอนลงเขาโดยเฉพาะพวกรถกระบะชาวบ้าน ให้สังเกตดูไฟเบรกให้ดี

ถ้าเบรคถี่ยิบ ไฟเบรคติดทุกโค้ง กระพริบถี่เหมือนไฟต้นคริสต์มาส แสดงว่าไม่ใช่คนแถวนั้น หรือเป็นพวกมือใหม่หัดขับ ไม่ชินสภาพภูมิประเทศ หรือขับเป็นนานแล้วแต่ยังไม่เข้าใจการใช้เอนจิ้นเบรค

เวลาขับรถตามภูเขา แล้วขับตามรถคันไหนแล้วกลิ่นเบรคไหม้คละคลุ้งลอยมาติดจมูกรุนแรง ให้อยู่ห่างไว้หรือหาโอกาสแซงไปเลย อย่าเข้าไปใกล้ หรือตีซี้วิ่งตามก้นกันไป

คุณจะเครียดไหมหากขับรถตามรถที่เบรคไม่ดี หรือ ปล่อยให้รถที่เบรคไม่ดีตามจี้ก้นรถคุณอยู่ ไม่แน่ว่าที่โค้งหน้าหรือ โค้งไหนสักแห่ง คุณอาจต้องจุ๊บกับรถคันนั้น อรรถรสการเดินทางอาจหมดลงในทันทีทันใด

ผมเคยเห็นกระบะบางกันลงเขา จิกลงไปแต่ละโค้ง โฉบลงไปแต่ละเนิน มีไฟเบรกติดน้อยมาก นานๆ เห็นที คุณแปลกใจไหม เค้าทำได้ยังไง ทำไมไม่เหยียบเบรก ก็เพราะเค้าใช้เอนจิ้นเบรค "เป็นหลัก" เบรคจริง "เป็นรอง" นั่นเอง ซึ่งเราก็ทำได้เช่นกัน ถ้าเข้าใจตามที่ผมอธิบายมา

การใช้เอนจิ้นเบรค ยังสามารถใช้บนถนนที่ราบธรรมดาได้อีกด้วย ยิ่งหากใช้ร่วมกับระบบเบรค ระยะเบรคจะสั้นกว่าการใช้ผ้าเบรคยี่ห้อดีที่สุดเท่าที่คุณเคยรู้จัก (แต่ไม่แนะนำเพราะอาจทำให้รถสึกหรอเกินความจำเป็น นอกจากจะฉุกเฉินจริงๆ และมือไวพอที่จะโยนคันเกียร์)

อย่างไรก็ตาม ผมขอสรุปหัวใจของการขับรถ โดยเฉพาะลงจากเขา ดังนี้

1.ใช้เอนจิ้นเบรคเป็นหลัก

2.ใช้เบรกจริงเป็นรอง (ช่วยในบางครั้ง ในกรณีที่เร็วไปหรือเอาไม่อยู่)

3.ไม่ประมาท (คนขับรถเก่งแต่ประมาท ไปเฝ้าท้าวสุวรรณมาเยอะแล้ว)

4.อย่าแซงทางโค้ง

5. สภาพร่างกายและจิตใจคนขับต้องพร้อม รวมทั้งสภาพรถที่สมบูรณ์

6.ไม่ทำเวลา (เพราะถ้าคุณทำเวลาขณะวิ่งบนเขา ทุกกฎกติกาที่กล่าวมาจะถูกละเมิด โดยคุณไม่รู้ตัว)

ผมรับรองว่าถ้าคุณทำได้ตามนี้ แม้ไม่ได้ขับวอลโว่ ชีวิตของคุณก็ปลอดภัยได้ ถึงตรงนี้ก็ได้เวลาแล้วที่คุณจะพุ่งทะยานไปข้างหน้า ทั้งแดนกระเหรี่ยงหรือดงกระRe ตั้งแต่ยอดดอยอินทนนท์ จรดเขาพับผ้า หรือ "ไปได้ทุกที่ ที่มีทาง"